ระเบียบและกฏหมาย
พระราชบัญญัต
เอกสารประเมินบุคคล
รายงานประจำป
คู่มือต่างๆ
แบบฟอร์มต่างๆ
Link Web ที่น่าสนใจ
กรุงเทพมหานคร
หนังสือเวียนกรุงเทพมหานคร
กระทรวงสาธารณสุข
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
สำนักงานประกันสังคม
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร
แพทยสภา
สภาการพยาบาล
WHO Thailand
การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
กรมบัญชีกลาง
ไทยฮอตไลน์
มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย
Bangkok GIS
 
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (colorectal cancer)

          โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (colorectal cancer) เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากขึ้นทุกปี โดยจากสถิติของประเทศไทยล่าสุด พบว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตสูงเป็นอันดับที่สามของผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง รองจากโรคมะเร็งปอด และโรคมะเร็งตับ สำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกาขณะนี้ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่แซงขึ้นมาเป็นสาเหตุการตายอันดับที่สองของผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งหมดแล้ว
           โรคมะเร็งชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับลำไส้ใหญ่ทุกๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นลำไส้ใหญ่ที่อยู่ในช่องท้อง หรือลำไส้ใหญ่ส่วนที่อยู่ในอุ้งเชิงกราน ที่เรียกว่าไส้ตรง อันที่จริงแล้วมะเร็งลำไส้ใหญ่ของทั้งสองส่วน จะมีลักษณะโรคและวิธีการรักษาที่แตกต่างกันบ้าง แต่สาเหตุ การตรวจวินิจฉัยและระยะโรคจะคล้ายคลึงกัน ตำแหน่งที่พบว่าเป็นมะเร็งประมาณครึ่งหนึ่งอยู่ที่บริเวณไส้ตรง อีกหนึ่งในสามอยู่ที่ลำไส้ใหญ่ขดขวาและขดซ้าย ส่วนที่ทวารหนัก พบร้อยละ 1-2ของทั้งหมด โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มักพบในคนอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่สามารถพบได้ในทุกอายุ พบได้น้อยในผู้ที่อายุต่ำกว่า 40 ปี ผู้ชายเป็นโรคนี้มากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย

สาเหตุ

 

  • ปัจจัยทางพันธุกรรม มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งชนิดนี้สูงขึ้น นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังบางชนิด จะมีโอกาสเป็นมะเร็งสูงกว่าปกติ 15-20 เท่า ปัจจุบันพบว่ามียีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หลายชนิด ได้แก่ MSH2, MLH1 และ PMS2


  • ปัจจัยด้านอาหาร การรับประทานอาหารไขมันสูง หรืออาหารที่ขาดใยอาหารทำให้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ บางการศึกษาพบว่าการขาดสารอาหารบางชนิดอาจเป็นปัจจัยให้เกิดมะเร็งในลำไส้ใหญ่ได้สูงกว่าผู้ป่วยได้รับสาร?อาหารครบถ้วน ที่สำคัญคือ การรับประทานผักและผลไม้ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ เมื่อเทียบกับการรับประทานกลุ่มอื่น ปัจจุบันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่พบมากขึ้นในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ เนื่องจากสิ่งแวดล้อมที่มีมลภาวะเป็นพิษ และอาหารการกินของผู้บริโภคที่นิยมทานอาหารฟาสต์ฟู้ดมากขึ้น
           แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาวิจัยที่ได้ข้อสรุปชัดเจนว่าอะไรเป็นสาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ข้อมูลมากมายบ่งชี้ว่าการควบคุมน้ำหนักและการออกกำลังกายที่พอเหมาะ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ระดับหนึ่ง นอกจากนี้ยังพบว่าการดื่มสุราหรือเบียร์อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ รวมทั้งการสูบบุหรี่ก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เช่นกัน

อาการ

           ถ้ามีก้อนมะเร็งบริเวณลำไส้ใหญ่ด้านขวา ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยอาการอ่อนเพลีย โลหิตจาง และมีเลือดออกในทางเดินอาหาร หรือคลำได้ก้อนที่ท้อง บางรายอาจมีอาการปวดหน่วงๆ บริเวณท้องด้านขวา มีน้อยรายที่ผู้ป่วยมีอาการอุดตันของลำไส้
           ถ้ามีก้อนมะเร็งบริเวณลำไส้ใหญ่ด้านซ้าย ผู้ป่วยมักมีอาการของลำไส้อุดตันจากก้อนมะเร็งหรือถ่ายอุจจาระผิดปกติ ท้องผูก ปวดท้อง อาเจียน ไม่ผายลม ไม่ถ่ายอุจจาระ หรือมีเลือดปนกับอุจจาระ ถ้ามีก้อนมะเร็งบริเวณลำไส้ส่วนตรง จะมีอาการปวดทวารหนัก ถ่ายเป็นเลือดสด มีความรู้สึกถ่ายไม่สุด หรือบางครั้งพบว่ามีก้อนออกทางทวารหนัก ถ้ามีก้อนมะเร็งบริเวณทวารหนัก ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะคลำได้ก้อน อาจมีอาการถ่ายเป็นเลือดสด ถ่ายแล้วปวด หรือพบว่าต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต

            ความรุนแรงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัยที่สำคัญได้แก่ ระยะของโรค โดยระยะยิ่งมากความรุนแรงของโรคก็มากขึ้น สภาพร่างกายและโรคร่วมอื่นๆ ที่มีผลต่อสุขภาพของผู้ป่วย เช่น โรคเบาหวาน โรคไต เป็นต้น ผู้ป่วยอายุน้อย มักมาพบแพทย์เมื่อโรคลุกลามเพราะไม่ค่อยได้นึกถึงโรคมะเร็ง ส่วนผู้ป่วยสูงอายุมักมีสภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการรักษา ขนาดของก้อนมะเร็ง ยิ่งมีขนาดโตมากความรุนแรงของโรคจะมากกว่าในผู้ป่วยซึ่งขนาดก้อนมะเร็งเล็กกว่า การที่มีมะเร็งลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียง ความรุนแรงของโรคก็จะมากกว่าการไม่มีการลุกลามของโรค

การวินิจฉัย

            จากการซักถามประวัติอาการและการตรวจร่างกายอย่างะเอียด รวมทั้งการตรวจทางทวารหนัก การถ่ายภาพเอกซเรย์ด้วยการสวนแป้งทางทวารหนัก การส่องกล้องทางทวารหนักและการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางด้านพยาธิวิทยา ตรวจหาระยะของโรค เช่น การตรวจช่องท้องด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจภาพเอกซเรย์ปอด การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการเพื่อดูการทำงานของตับ ไต หรือ โรคเบาหวานเป็นต้น
            การตรวจภาพสแกนของกระดูก ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดหลังมาก เพื่อตรวจว่าได้มีโรคแพร่กระจายไปกระดูกหรือไม่ การตรวจอัลตราซาวด์ตับ ถ้าสงสัยว่ามีโรคแพร่กระจายไปที่ตับ
            โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ประมาณร้อยละ 25 อาจได้รับการวินิจฉัยเบื้องตันผิดพลาดเป็นโรคของถุงน้ำดีและแผลในกระเพาะ หรือโรคของลำไส้ใหญ่ชนิดอื่นๆ อาการปวดท้องด้านล่างข้างขวาอาจคล้ายอาการของโรคไส้ติ่งอักเสบ ผู้ป่วยที่มีปัญหาโลหิตจางร่วมกับน้ำหนักลด ต้องนึกถึงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วย สำหรับผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปีที่มีอาการเลือดออกทางทวารหนักควรได้รับการตรวจละเอียดทุกราย

ระยะต่างๆ ของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

  • ระยะที่ 1 - โรคมะเร็งยังอยู่ในเยื่อบุลำไส้
  • ระยะที่ 2 - มะเร็งทะลุเข้ามาในชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้ และ/หรือทะลุถึงเยื่อหุ้มลำไส้ ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียง
  • ระยะที่ 3 - มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง
  • ระยะที่ 4 - มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไป หรือลุกลามตามกระแสโลหิตไปยังอวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ตับ ปอด หรือกระดูก เป็นต้น

 

การรักษา

           การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักจะได้ผลดีมากน้อยเพียงใดขึ้นกับระยะของโรคขณะเริ่มต้นรักษา ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เช่น การตรวจอุจจาระซึ่งทำได้สะดวก รวดเร็วและสิ้นเปลืองน้อย หรืออาจตรวจลำไส้ละเอียดมากขึ้นด้วยการสวนสารทึบแสง ตลอดจนการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อบ่งชี้ในการเลือกใช้ที่แตกต่างกัน
           การผ่าตัด ถือเป็นการรักษาหลักของมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยตัดเอาลำไส้ส่วนที่เป็นโรคและต่อมน้ำเหลืองออกไป ในบางครั้งถ้าเป็นมะเร็งที่ลุกลามมาก หรือมะเร็งของลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่อยู่ติดกับทวารหนัก การผ่าตัดอาจมีความจำเป็นต้องทำทวารเทียมเอาปลายลำไส้ส่วนที่เหลืออยู่เปิดออกทางหน้าท้องเป็นทางให้อุจจาระออก ปัจจุบันมีการใช้เครื่องมือชนิดลวดเย็บมาช่วยต่อลำไส้ ทำให้สามารถผ่าตัดมะเร็งที่อยู่ต่ำๆ โดยอยู่เหนือรูทวารหนักเพียง 4-5 เซนติเมตร ได้โดยไม่ต้องทำทวารเทียม
รังสีรักษา เป็นการรักษาร่วมกับการผ่าตัด อาจฉายรังสีก่อนหรือหลังการผ่าตัด โดยแพทย์จะประเมินจากลักษณะการลุกลามของก้อนมะเร็งและโอกาสการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง โดยทั่วไปการฉายรังสีรักษามักใช้ระยะเวลาประมาณ 5-6 สัปดาห์ โดยฉายวันละ 1 ครั้ง ฉายติดต่อกัน 5 วันใน 1 สัปดาห์
          ยาเคมีบำบัด อาจให้ก่อนการผ่าตัด และ/หรือหลังผ่าตัด ร่วมกับรังสีรักษาหรือไม่ก็ได้ การใช้ยาเคมีบำบัดไม่จำเป็นต้องให้ในผู้ป่วยทุกราย โดยแพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป ปัจจุบันพบว่าการใช้ยาเคมีบำบัดจะได้ผลดีขึ้นกับพันธุกรรมของผู้ป่วย โดยสามารถตรวจได้ล่วงหน้าว่าผู้ป่วยรายนั้นจะได้ผลตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดหรือไม่
          การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะลุกลาม ปัจจุบันใช้ยา cetuximab ซึ่งเป็นสารต้านมะเร็งในรูปแบบชีวบำบัด จัดเป็นแนวทางการรักษาใหม่ล่าสุดที่เรียกว่า targeted therapy หมายถึงการรักษาตามเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจง โดยตัวยาออกฤทธิ์ต้านตัวรับสัญญาณเซลล์มะเร็ง EGFR โดยเฉพาะ จะมีผลให้ลดการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง
          นอกจากนี้การติดตามผลการรักษาก็ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยภายหลังรักษาครบตามกระบวนการแล้ว แพทย์จะนัดตรวจผู้ป่วยสม่ำเสมอ โดยในปีแรกอาจนัดตรวจทุก 1-2 เดือน ภายหลังรักษาครบ 2-3 ปีไปแล้วอาจนัดตรวจทุก 2-3 เดือน ภายหลัง 3-5 ปี อาจนัดตรวจทุก 3-6 เดือน และถ้าเกิน 5 ปีไปแล้ว อาจนัดตรวจทุก 6-12 เดือน ในการนัดมาทุกครั้งแพทย์จะซักประวัติและทำการตรวจร่างกาย ส่วนการตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น การตรวจเลือด หรือเอกซเรย์จะทำตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เป็นรายๆ ไปไม่เหมือนกัน ผู้ป่วยควรมาตรวจตามนัดสม่ำเสมอและควรนำญาติหรือผู้ให้การดูแลมาด้วย เพื่อจะได้ร่วม
ปรึกษาวางแผนการดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


Produce by Medical Service Department

สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เลขที่ 514          ถนนหลวง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100          โทร. 0-2224-2954 , 0-2224-9711 , 0-2221-6020 , 0-2225-4966          โทรสาร 0-2226-1931 , 0-2221-6029

ติดต่อ Webmaster : webmaster@msdbangkok.go.th